ความหมายและที่มาของชื่อจังหวัดพังงา
พังงาเป็นจังหวัดที่มีภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นป่าเขา มีพื้นที่
4,170.895 ตารางกิโลเมตร อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 788 กิโลเมตร
ชื่อของจังหวัดพังงานั้นเดิมน่าจะเรียกว่า “เมืองภูงา”
ตามชื่อเขางา หรือเขาพังงา ซึ่งอยู่ในตัวเมืองพังงาในปัจจุบัน เมื่อตั้งเมืองขึ้นจึงเรียกกันว่า
“เมืองภูงา” เมืองภูงานี้อาจจะตั้งชื่อให้คล้องจองเป็นคู่กับเมืองภูเก็ตมาแต่เดิมก็ได้แต่เหตุที่เมืองภูงากลายเป็นเมืองพังงานั้น สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากเมืองภูงาเป็นเมืองที่มีแร่อุดมสมบูรณ์จึงมีฝรั่งมา
ติดต่อซื้อขายแร่ดีบุกกันมาก และฝรั่งเหล่านี้คงจะออกเสียงเมืองภูงาเป็นเมือง “พังงา” เพราะแต่เดิมฝรั่งเขียนเมืองภูงาว่า PHUNGA
หรือ PUNGA ซึ่งอาจอ่านว่า ภูงา หรือจะอ่านว่า
พังงา หรือ พังกา ก็ได้
จากพงศาวดารปรากฏว่าก่อนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นั้น เมืองพังงาเป็นเมืองแขวงขึ้นอยู่กับเมืองตะกั่วป่า
จนกระทั่งถึงสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์จึงได้ยกฐานะขึ้นเป็นเมืองเทียบเท่าเมืองตะกั่วป่า
เมืองตะกั่วทุ่ง และโอนเมืองจากฝ่ายกรมท่ามาขึ้นเป็นฝ่ายกลาโหมตั้งแต่นั้นมา ต่อมาสมัยรัชกาลที่
3 ทรงมีพระราชดำริที่จะปรับปรุงบูรณะหัวเมืองชายฝั่งตะวันตกที่ถูกพม่าตี
จึงได้แต่งตั้งข้าราชการมาเป็นเจ้าเมือง และให้ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ โดยแต่งตั้งให้พระยาบริรักษ์ภูธร
(แสง ณ นคร) เป็นเจ้าเมืองพังงาคนแรกในปี 2383 ต่อมาเมืองตะกั่วทุ่งถูกยุบเป็นอำเภอขึ้นกับเมืองพังงา
ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 7 เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ที่ประชุมเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ตจึงมีมติให้ยุบเมืองตะกั่วป่าขึ้นกับจังหวัด
พังงาด้วย ตั้งแต่ พ.ศ. 2474 เป็นต้นมา แรกเริ่มที่ตั้งเป็นเมืองนั้นสถานที่ราชการอยู่ที่บ้านชายค่าย
ต่อมา พ.ศ. 2473 จึงได้มาสร้างศาลากลางจังหวัดขึ้นที่บ้านท้ายช้าง
ครั้น พ.ศ. 2515 จึงได้สร้างศาลากลางหลังใหม่ขึ้นบริเวณหน้าถ้ำพุงช้างจนถึงปัจจุบัน
จังหวัดพังงาแบ่งการปกครองออกเป็น 8 อำเภอ คือ
อำเภอเมือง อำเภอคุระบุรี อำเภอทับปุด อำเภอกะปง อำเภอตะกั่วทุ่ง อำเภอตะกั่วป่า
อำเภอท้ายเหมือง และอำเภอเกาะยาว
อ้างอิง :
http://www.ranyapaktai.com/ranya/index.php?option=com_content&view=article&id=71&Itemid=81